วันศุกร์ที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2550

DSS ระบบสนับสนุนการตัดสินใจ




ระบบสนับสนุนการตัดสินใจ (Decision Support System : DSS)



ระบบสนุนการตัดสินใจ หมายถึง ระบบที่ทำหน้าที่จัดเตรียมสารสนเทศเพื่อช่วยในการตัดสินใจหากเป็นการใช้โดยผู้บริหารระดับสูง เรียกระบบนี้ว่า "ระบบสนับสนุนการตัดสินใจเพื่อผู้บริหารระดับสูง" (Executive Support System: ESS) บางครั้งสารสนเทศที่ TPS และ MIS ไม่สามารถช่วยให้ผู้บริหารตัดสินใจได้จำเป็นต้องพัฒนาระบบช่วยตัดสินใจ DSS ขึ้น เพื่อช่วยในการตัดสินใจภายใต้ผลสรุปและ การเปรียบเทียบข้อมูลจากแหล่งอื่น ทั้งภายในและนอกองค์กร โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อช่วยในการตัดสินใจที่ไม่ได้คาดไว้ล่วงหน้า ช่วยในเรื่องการตัดสินใจในเหตุการณ์หรือโครงสร้างธุรกิจที่ไม่มีโครงสร้างแน่นอน หรือกึ่งโครงสร้าง เช่น การตัดสินใจเกี่ยวกับการรวมบริษัทและการหาบริษัทร่วม การขยายโรงงาน ผลิตภัณฑ์ใหม่ เป็นต้น ระบบสนับสนุนการตัดสินใจอาจจะใช้กับบุคคลเดียวหรือช่วยสนับสนุนการตัดสินใจเป็นกลุ่ม และยังมีระบบสนับสนุนผู้บริหารเพื่อช่วยในการตัดสินใจเชิงกลยุทธ์



คุณสมบัติของระบบ DSS




  • ช่วยผู้บริหารในกระบวนการการตัดสินใจ


  • ออกแบบมาให้สามารถเรียกใช้ทั้งข้อมูลแบบกึ่งโครงสร้างและแบบไม่มีโครงสร้าง แน่นอนได้


  • สนับสนุนผู้ตัดสินใจได้ในทุกระดับ แต่จะเน้นที่ระดับวางแผนบริหารและวางแผนยุทธศาสตร์


  • มีรูปแบบการใช้งานอเนกประสงค์ มีความสามารถในการจำลองสถานการณ์ และมีเครื่องมือใน การวิเคราะห์สำหรับช่วยเหลือผู้ทำการตัดสินใจ


  • เป็นระบบที่โต้ตอบกับผู้ใช้ได้ สามารถใช้งานได้ง่าย ผู้บริหารต้องสามารถใช้งานโดยพึ่งความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญน้อยที่สุดหรือไม่ต้องพึ่งเลย


  • สามารถปรับให้เข้ากับความต้องการข่าวสารในสภาพการณ์ต่าง ๆ


  • มีกลไกช่วยให้สามารถเรียกใช้ข้อมูลที่ต้องการได้อย่างรวดเร็ว


  • สามารถติดต่อกับฐานข้อมูลขององค์กรได้


  • ทำงานโดยไม่ขึ้นกับระบบการทำงานตามตารางเวลาขององค์กร


  • มีความยืดหยุ่นพอที่จะรองรับรูปแบบการบริหารแบบต่าง ๆ

ส่วนประกอบของ DSS


  1. อุปกรณ์ เป็นโครงสร้างพื้นฐานของ DSS โดยอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับระบบสนับสนุนการตัดสินใจจะสามารถแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ
    1.1 อุปกรณ์ประมวลผล ประกอบด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นระบบเครือข่าย ราคาถูก มีประสิทธิภาพดี สะดวกต่อการใช้งาน
    1.2 อุปกรณ์สื่อสาร ระบบเครือข่ายต่าง ๆ ที่นำมาประยุกต์เพื่อทำการสื่อสารข้อมูลและสารสนเทศของ DSS อาทิ การประชุมทางไกล (Teleconference) การเรียนผ่านระบบออนไลน์ เป็นต้น
    1.3 อุปกรณ์แสดงผล DSS ได้แก่ จอที่มีความละเอียดสูง เครื่องพิมพ์อย่างดี และอุปกรณ์ถ่ายทอดข้อมูลสารสนเทศที่มีประสิทธิภาพ


  2. ระบบการทำงาน เป็นส่วนประกอบหลักสำคัญในการที่จะทำให้ DSS ทำงานได้ตามวัตถุประสงค์ความต้องการของผู้ใช้ ประกอบด้วย
    2.1 ฐานข้อมูล (Database) จะมีฐานข้อมูลที่สมบูรณ์ ครบถ้วน แน่นอน ง่ายต่อการสืบค้น เพื่อรอการนำไปประมวลผลประกอบการตัดสินใจ
    2.2 ฐานแบบจำลอง (Model Base) มีหน้าที่รวบรวมแบบจำลองทางคณิตศาสตร์และแบบจำลองในการวิเคราะห์ปัญหาที่สำคัญ ซึ่งถูกพัฒนาตามจุดประสงค์ เพื่ออำนวยความสะดวกต่อผู้ใช้งาน
    2.3 ระบบชุดคำสั่งของ DSS (DSS Software System) เป็นระบบจัดการ ควบคุมการพัฒนา จัดเก็บ และเรียกใช้แบบจำลองต่าง ๆ ที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการโต้ตอบระหว่างผู้ใช้กับฐานข้อมูลและฐานแบบจำลอง


  3. ข้อมูล ที่นำมาใช้กับ DSS ควรมีปริมาณพอเหมาะแก่การนำไปใช้งาน มีความถูกต้อง ทันสมัย และเหมาะสมกับความต้องการ สามารถนำมาใช้ได้สะดวก รวดเร็ว มีความยืดหยุ่นในการนำมาจัดรูปแบบเพื่อการวิเคราะห์ได้อย่างเหมาะสม และครบถ้วน


  4. บุคลากร แบ่งเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้
    4.1 ผู้ใช้ (End-user) เป็นผู้ใช้งานโดยตรงของ DSS ได้แก่ ผู้บริหารในระดับต่าง ๆ ตลอดจน นักวิเคราะห์ และผู้เชี่ยวชาญทางด้านธุรกิจที่ต้องการข้อมูลสำหรับประกอบการตัดสินใจในปัญหาที่เกิดขึ้น
    4.2 ผู้สนับสนุน DSS (DSS Supports) ได้แก่ ผู้ควบคุมดูแลรักษาอุปกรณ์ต่าง ๆ ผู้พัฒนาระบบสนับสนุนการตัดสินใจ ผู้จัดการข้อมูลและที่ปรึกษาเกี่ยวกับระบบ เพื่อให้ DSS มีความสมบูรณ์ สามารถดำเนินงานอย่างเต็มประสิทธิภาพและตรงตามความต้องการของผู้ใช้


การนำระบบ DSS ไปใช้ดำเนินงานด้านต่าง ๆ เช่น


  1. การบริหารงานด้านบุคลากร (MIS-DSS Personnel)


  2. ด้านการงบประมาณ การเงิน/การคลัง และค่าใช้จ่าย


  3. ด้านพัสดุ ครุภัณฑ์


  4. ด้านอาคารสถานที่


  5. ผลการรวบรวมคำถามด้านกฎระเบียบ มติการประชุม


สรุป
ระบบ DSS เป็นซอฟต์แวร์ที่ช่วยในการตัดสินใจเกี่ยวกับการจัดการ การรวบรวมข้อมูล การวิเคราะห์ข้อมูล และการสร้างตัวแบบที่ซับซ้อนภายใต้ซอฟต์แวร์เดียวกัน และยังเป็นการประสานการทำงานของบุคลากรกับเทคโนโลยีทางด้านซอฟต์แวร์ สามารถโต้ตอบกันโดยคอมพิวเตอร์เพื่อแก้ปัญหาแบบไม่มีโครงสร้างได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และถูกต้อง ดังนั้น DSS จึงเป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับผู้บริหารในการวิเคราะห์ ตัดสินใจข้อมูลเชิงกลยุทธ์ แต่มีวิธีปฏิบัติการที่ยืดหยุ่น ตอบสนองความต้องการในด้านประสิทธิภาพการทำงาน

ไม่มีความคิดเห็น: